ประวัติ ของ ท้าววนิดาพิจาริณี (เจ้าจอมมารดาสุ่น ในรัชกาลที่ 4)

ท้าววนิดาพิจาริณี เกิดในครอบครัวอำมาตย์สืบสันดานมาแต่พระยาธรรมปุโรหิต (แก้ว) เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก[1] เป็นธิดาของพระยาสุรินทรราชเสนี (จั่น สุกุมลจันทร์) บ้างเขียนว่า "จัน"[2] กับคุณหญิงกลิ่น สุรินทรราชเสนี[1] (บางแห่งว่าเกิดกับมารดาชื่อ สุ่น)[2] มีน้องสาวร่วมบิดามารดาอีกสองคนเข้ารับราชการเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ เจ้าจอมมารดาสุด[4] และเจ้าจอมมารดาสาย[3]

เจ้าจอมมารดาสุ่นได้ถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สนองพระเดชพระคุณด้วยมีประสูติการพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประพาฬรัศมี (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2408 —20 กรกฎาคม พ.ศ. 2446)[1][2][3]

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตไปแล้ว เจ้าจอมมารดาสุ่นยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็น ท้าววนิดาพิจาริณี ศักดินา 800 เมื่อปี พ.ศ. 2429[1][2][3]

ท้าววนิดาพิจาริณี ป่วยเป็นวัณโรคถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2443 ได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม[5]